Google

Tuesday, April 10, 2007

ระวังเอล นิโญ : โลกร้อน ปี"50 ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์


การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าหวาดวิตกของอุณหภูมิโลก (climate change) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นหนึ่งในประเด็นวิตกของโลก ซึ่งกำลังสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อได้อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ "อัล กอร์" และองค์การสหประชาชาติ เป็นโต้โผใหญ่ในการผลักดัน ซึ่งน่าสนใจว่า แค่เปิดศักราชใหม่มาได้ไม่นาน ก็มีคำทำนายใหม่ออกมาเสียแล้วว่า ระวังปี 2550 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด

หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ ของอังกฤษ รายงานอ้างคำกล่าวของฟิล โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียซึ่งคาดการณ์ว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่อากาศร้อนกว่าปี 2541 ปีที่ถือว่าร้อนที่สุด โดยเขาอธิบายปรากฏการณ์เอล นิโญ ได้ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น จนทำให้ปัจจุบันโลกอยู่ในแนวโน้มที่อากาศจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1/10 ถึง 2/10 องศาเซลเซียสทุก 10 ปี ดังนั้นเมื่อพิจารณาประกอบกัน หากปีนี้ ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ทำให้โลกในปี 2550 มีอุณหภูมิร้อนกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ตลอด 12 เดือนนับจากนี้เป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ด้าน เจมส์ แฮนเสน ศาสตราจารย์อีกรายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอวกาศแห่งนาซ่า เห็นไปในทางเดียวกับฟิล โจนส์ พร้อมเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงของอากาศอาจเป็นสถานการณ์ที่ยากจะแก้ไขได้ หากยังไม่มีการลดมลพิษที่เป็นตัวก่อภาวะเรือนกระจกโดยเร็วและมากที่สุด โดยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์

เอล นิโญเป็นกระแสน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีอุณหภูมิอุ่นมากขึ้น ซึ่งนานๆ มักจะเกิดขึ้นสักครั้ง และมีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ปรากฏการณ์เอล นิโญครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2540 และ 2541 ทั้งนี้ปรากฏการณ์เอล นิโญ ในปี 2540-2541 ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปประมาณ 2,000 คน และสร้างความเสียหายทั่วโลก ประมาณ 30-37 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือเป็นฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดของอังกฤษ นับจากปี 2499

ในขณะเดียวกันนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งใน ละตินอเมริกาเตือนว่า ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ป่าร้อนชื้นที่มีฝนตกชุกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่ยังหลงเหลือ มีสภาพไม่ต่างจากทุ่งหญ้าสะวันนา ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพราะหากปล่อยปละปัญหาโลกร้อนโดยไม่มีการควบคุม ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้ฝนตกน้อยลง และอุณหภูมิในพื้นที่ดังกลาวสูงขึ้นอย่างมาก

โฮเซ่ อันโตนิโอ มาเรนโก นักอุตุนิยมวิทยาของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ ในบราซิล ระบุว่า การศึกษาของพวกเขาพุ่งไปที่ความเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือกรณีที่เลวร้ายที่สุด และกรณีที่มองในด้านดีขึ้นมาหน่อย ในกรณีแรกนั้นเป็นไปได้ที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 5-8 องศาเซลเซียส จนถึงปี 2646 โดยที่ระดับฝนตกจะลดลง 15-20% ซึ่งหากเป็นจริง สถานการณ์นี้จะส่งผลให้ป่าอะเมซอนแปรสภาพไปไม่ต่างอะไรกับทุ่งหญ้าสะวันนา

"ความเป็นไปได้ในกรณีนี้ประเมินตามสมมติฐานที่ว่า จะไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์โลกร้อน และการทำลายป่ายังดำเนินต่อไปในระดับปัจจุบัน" มาเรนโกกล่าว

แต่หากเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งมองในแง่ดีมากกว่านั้น ประเมินจากสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อหยุดยั้งปัญหา นั่นอาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่ถึงกระนั้นอุณหภูมิในป่าอะเมซอนยังคงเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส และปริมาณฝนตกลดลง 5-15%

หากมีการควบคุมการแพร่ลดภาวะทางอากาศและลดการทำลายป่า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 องศาในปี 2643 ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ ป่าร้อนชื้นที่มีฝนตกชุก ก็จะไม่ถึงขั้นวิกฤตสูญสลายไป

แหล่งที่มา ประชาชาติธุรกิจ

No comments: