Saturday, April 21, 2007
“ สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ” สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก
เนินดินขนาดใหญ่กว่ามหาปิรามิดแห่งอียิปต์ทางด้านเหนือของเชิงเขาหลีซัน ห่างจากตัวเมืองซีอันไปทางทิศตะวันออก 35 กิโลเมตร เบื้องหน้าเป็นแม่น้ำเว่ย คือ ชัยภูมิของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี (ฉินสื่อหวงตี้ หรือฉินซีฮ่องเต้ ปี 259-210 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งนักโบราณคดีจีนเชื่อว่า อาณาเขตของสุสานทั้งสิ้น 2,180 ตารางกิโลเมตรนี้ แบ่งออกเป็น พระราชฐานชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งนอกจากจะบรรจุพระศพของจักรพรรดิแล้ว ยังได้ฝังสมบัติ ข้าวของเครื่องใช้ในพระชนม์ชีพ ตลอดจนนางสนมกำนัล กองทหาร และสัตว์ใหญ่ไปพร้อมกัน เพื่อร่วมในการเดินทางครั้งสุดท้ายของจักรพรรดิฉินองค์แรก
ตามความที่บันทึกในต้นสมัยฮั่นโดยนักประวัติศาสตร์ ซือหม่าเชียน พรรณนาว่า ‘โลงศพของจักรพรรดิองค์แรกแห่งแผ่นดินฉิน หล่อขึ้นด้วยทองแดง ตั้งอยู่ ณ โถงใจกลางสุสาน ที่ก่อสร้างและประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดาราวกับพระราชวังใต้ดิน... เพดานเลี่ยมไข่มุกและเพชร รูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว กับอัญมณีที่ประดับบนพื้นโถง รูปสายน้ำ ทะเลสาบ และทะเล..เป็นเสมือนตัวแทนของสวรรค์และพิภพ....สว่างไสวด้วยตะเกียงน้ำมันปลาวาฬ เพื่อความเป็นอมตะ...และกับดักเกาทัณฑ์ที่พร้อมจะปลิดชีพผู้บุกรุก ทุกเมื่อ...’
บันทึกนี้อาจเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่บอกเล่าถึง สภาพภายในมหาสุสานที่มีอายุใกล้เคียงช่วงเวลานั้นที่สุด ที่นักโบราณคดีจีนเชื่อว่า เชื่อถือได้ และใต้ผืนดินในอาณาบริเวณรอบนอกสุสานที่บรรจุพระศพนี้ คือทัพทหารที่ถวายการอารักขาองค์จักรพรรดิในปรภพ
29 มีนาคม ค.ศ.1974 14 นาฬิกาเศษ หยังจื้อฟาชาวนาหมู่บ้านซีหยัง พบซากดินเผาชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ ขณะกำลังขุดบ่อน้ำที่ความลึก 3 เมตร ห่างจากสุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวงไปทางตะวันออก 1.5 กิโลเมตร
หลายวันต่อมา เจ้าคังหมิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมประจำอำเภอหลินถง รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ กว้านซื้อซากโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบ และที่เคยขายออกไปก่อนหน้านี้ ได้ 3 คันรถ หลังจากนั้นกลับไปยังห้องวิจัยเพื่อทำการศึกษา
ต้นเดือนพฤษภาคม เจ้าคังหมิน จำกัดพื้นที่ 120 ตารางเมตรรอบบ่อน้ำเพื่อทำการขุดหาซากดินเผาเพิ่ม
ขณะนั้นเป็นเวลาประจวบเหมาะที่ ลิ่นอันเหวิ่น นักข่าวหนังสือพิมพ์ซินหัว กลับไปเยี่ยมญาติที่อำเภอหลินถง เห็นสิ่งที่ชาวนาและเจ้าหน้าที่ขุดพบ เมื่อกลับสู่ปักกิ่งนำเรื่องตีพิมพ์ลงใน ‘ชุนนุมเหตุการณ์’ ของสำนักพิมพ์เหรินหมินยื่อเป้า
ต้นเดือนกรกฎาคม รองนายกรัฐมนตรีหลี่เซียนเนี่ยน มีคำสั่ง ให้กองโบราณคดีและคณะกรรมการมณฑลส่านซี ร่วมหามาตรการอนุรักษ์โบราณวัตถุนี้
15 กรกฎาคม ค.ศ.1974 หยวนจงอี เจ้าคังหมิน นำทีมนักโบราณคดี เดินทางเข้าหมู่บ้านซีหยังอีกครั้ง การขุดค้นครั้งสำคัญเริ่มต้นขึ้น ..โลกตกตะลึง..กองทัพหุ่นทหารดินเผา เครื่องสังเวยในหลุมสุสานขนาดมหึมา
1 ตุลาคม ค.ศ.1979 พิพิธภัณฑ์หุ่นดินเผากองทหารสุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวง เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ ได้รับการโจษขานเป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์ของโลกลำดับที่ 8 แห่งศตวรรษที่ 20’....กระทั่ง ธันวาคม ค.ศ. 1987 องค์การยูเนสโกลงมติให้เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม
หลุมขุดค้นที่ 1 ปรากฏกองทัพใต้ดินอันทรงพลานุภาพ ประกอบด้วยหุ่นทหารติดอาวุธกว่า 6,000 ตัว รวมถึงหุ่นม้า และรถศึก หุ่นดินเผาทหารและม้าศึกมีขนาดใหญ่เล็กเหมือนของจริง หุ่นทุกตัวมีสีหน้าและทรงผมเป็นลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกัน สูงราว 5 ฟุต 8 นิ้ว ถึง 6 ฟุต 5 นิ้ว ยืนตระหง่านเรียงรายเป็นหมวดหมู่ ในหลุมสุสานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 197 ฟุต (62 เมตร) ยาว 689 ฟุต(230 เมตร) ลึก 14.8-21.3 ฟุต(5 เมตร)
นักโบราณคดีจีน ตั้งข้อสังเกตว่า กองทหารอารักขาสุสานของจักรพรรดิฉินสื่อหวงที่พบในหลุมนี้ มีแนวการจัดทัพตามบันทึกในตำราพิชัยสงครามซุนอู่
หลุมขุดค้นที่ 2 ห่างจากหลุมขุดค้นที่ 1 ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 20 เมตร พบในปี 1976 พื้นที่ 6,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 4 ส่วน ขุดพบหุ่นดินเผาทหาร 1,000 ตัว ม้าศึก 500 ตัว และรถม้าทำจากไม้ 89 คัน เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเมื่อปี 1994
หลุมขุดค้นที่ 3 ห่างจากหลุมที่ 1 ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 25 เมตร พบในปี 1976 ขนาด 520 ตารางเมตร พบหุ่นทหาร 68 ตัว กับรถม้า 1 คัน และม้าศึก 4 ตัว รวมถึงกระดูกสัตว์และเขากวาง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเครื่องบูชายัญในพิธีศพ
นักโบราณคดีคาดว่า หลุมที่ 3 นี้อาจเป็นกองบัญชาการกลางควบคุมกองทหาร ตามใบหน้าของหุ่นดินเผาทหาร เสื้อเกราะและอาวุธที่ขุดพบมีสีทาไว้ แต่เมื่อนักโบราณคดีเปิดสุสานครั้งแรก อากาศภายนอกทำให้สีบนตัวหุ่นสลายไปในเวลาอันรวดเร็ว หลุมขุดค้นที่ 3 เปิดให้สาธารณชนเข้าชมในปี 1989
รวมวัตถุโบราณที่ค้นพบทั้งที่เป็นหุ่นทหารดินเผา สรรพาวุธ รถม้าและม้าศึกที่ใช้ในการสงคราม ทั้งสิ้นกว่า 7,400 ชิ้น ในหลุมสุสาน 25,000 กว่าตารางเมตร
จนถึงวันนี้ลึกลงไปใต้สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ยังคงเป็นปริศนาท้าทายนักโบราณคดีทั่วโลก ถึงแม้นักโบราณคดีจีนจะคาดการณ์ได้ว่า สุสานแห่งนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด แต่การขุดค้นความจริงภายใต้สุสาน จำเป็นต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่ก้าวหน้ามาก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุล้ำค่า ดังนั้นการคิดค้นกระบวนการขุดค้นอันซับซ้อน จึงยังเป็นความหวังของนักโบราณคดีต่อไป.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment